การตั้งครรภ์กับสุขภาพช่องปาก

เมื่อคุณกำลังตั้งครรภ์ และมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก

การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากสำหรับคุณที่จะต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นเพื่อการเริ่มต้นชีวิตที่ดีของลูกน้อย อย่างไรก็ตามสุขภาพช่องปากของคุณในช่วงเวลานี้ก็มีความสำคัญมากกว่าในช่วงเวลาอื่น ซึ่งหากคุณมีปัญหาในช่องปากควรรีบเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบ และรับการรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีปัญหาทางทันตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นขณะที่คุณกำลังตั้งครรภ์

ปัญหาสุขภาพช่องปากอาจเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

  1. โรคเหงือกอักเสบจากการตั้งครรภ์

    ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในช่วงการตั้งครรภ์ คือ การเปลี่ยนแปลงของเหงือก เนื่องจากจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคราบแบคทีเรียที่สะสมบนฟันมากขึ้น หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สังเกตเห็นว่าเหงือกของพวกเขาเปลี่ยนไปจากสีชมพูอ่อนกลายเป็นสีแดงเข้ม และอาจมีเลือดออกแม้จะมีแปรงฟันเบา ๆ ก็ตาม อาการเหล่านี้เรียกว่าโรคเหงือกอักเสบจากการตั้งครรภ์ มักพบที่อายุครรภ์ประมาณแปดสัปดาห์ และยาวนานไปจนถึงเดือนที่แปด และจะหายไปหลังจากคลอดบุตรไม่นาน

    รูปภาพ: ด้านซ้าย :เหงือกและฟันมีสภาพแข็งแรงเป็นปกติ ด้านขวา : แสดงอาการของโรคเหงือก – มีลักษณะแดง และบวม

    สาเหตุเกิดจากอะไร?

    การเปลี่ยนแปลงในร่างกาย เช่น ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อคราบแบคทีเรียในช่องปากมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้นแม้ว่าคุณจะมีสุขภาพเหงือกที่ดีในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ และควบคุมปริมาณคราบแบคทีเรีย รวมทั้งสุขอนามัยในช่องปากอย่างดีแล้ว แต่โรคเหงือกอักเสบก็ยังสามารถเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้แม้ว่าจะมีคราบแบคทีเรียบนผิวฟันน้อยก็ตาม

    อะไรเป็นสัญญาณเตือน?

    สัญญาณเตือนที่ชัดเจนคือเหงือกที่มีลักษณะเป็นสีแดง มีเลือดออกง่ายแม้จะแปรงฟันเบา ๆ หรืออาจรู้สึกเสียวเหงือกส่วนการมีเลือดออกเมื่อบ้วนปากนั้นอาจเป็นสัญญาณทั่วไปของโรคเหงือกทุกประเภท

  2. การเปลี่ยนแปลงของเหงือก ระหว่างการตั้งครรภ์

    เหงือกโตเป็นก้อน และมีอาการบวมเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่สอง ซึ่งค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก และพบน้อยกว่า 10% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด บางครั้งถูกเรียกอย่างไม่ถูกต้องว่าเป็นเนื้องอกระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ในความจริงแล้วก้อนบวมเหล่านี้ไม่ใช่เนื้องอก ไม่ใช่มะเร็ง และไม่เป็นอันตราย

    รูปภาพ: ก้อนเนื้อเยื่ออักเสบระหว่างการตั้งครรภ์

    สาเหตุเกิดจากอะไร?

    ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน อาจเกิดได้จากฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกันที่เปลี่ยนแปลงไป สุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี และการติดเชื้อจากไวรัส

    อะไรเป็นสัญญาณเตือน?

    ก้อนเนื้อ หรือส่วนที่บวมซึ่งปรากฏขึ้นใกล้กับร่องเหงือก โดยทั่วไปแล้วจะเกิดขึ้นที่ฟันกรามด้านบน มักจะมีเลือดออกติดอยู่บนแปรงสีฟัน ก้อนเนื้อส่วนมากโตช้า และไม่มีอาการเจ็บปวด

  3. การเปลี่ยนแปลงของฟัน – การสึกกร่อนของฟัน

    การสึกของฟันเป็นภาวะที่ฟันถูกโจมตีโดยกรดซึ่งทำให้สารเคลือบฟันบางลงและไวต่อการสึกกร่อน ทั้งนี้สามารถทำให้ผิวฟันที่อ่อนแอมีความแข็งแรงขึ้นได้ด้วยแร่ธาตุที่พบในน้ำลาย และฟลูออไรด์ในจากการใช้ยาสีฟัน

    รูปภาพ: ลักษณะของฟันที่ถูกกัดกร่อน คือ การขาดความมันวาวของพื้นผิว มีสีเหลือง และฟันจะค่อย ๆ มีขนาดเล็กลงเนื่องจากสารเคลือบฟันถูกกัดกร่อนออกไป

    สาเหตุเกิดจากอะไร?

    การกัดกร่อนเกิดจากกรดที่มาจากสองสาเหตุ คือ จากอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงที่มีการอาเจียนอยู่บ่อยครั้งจะทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในปาก และจากอาหาร และเครื่องดื่มแม้ว่าจะมี “ประโยชน์ต่อร่างกาย” เช่น ผลไม้ และน้ำผลไม้หลายชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ประกอบไปด้วยกรดในประมาณมาก ทำให้ชั้นของสารเคลือบฟันที่คลอบคลุมฟันอยู่นั้นอ่อนแอลง 

    อะไรเป็นสัญญาณเตือน?

    อาการเริ่มแรก คือ มีอาการเจ็บเล็กน้อย มีอาการเสียวฟันเมื่อดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น เมื่อมีอากาศหนาวเย็นหรือแปรงฟันด้วยน้ำเย็นในฤดูหนาว เมื่อฟันถูกกัดกร่อนไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ลักษณะของฟันเปลี่ยนแปลงไป ฟันจะสูญเสียพื้นผิว และอาจมีสีหมอง ดูไม่เงางาม โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าอาจมีสีเหลืองที่ดูเข้มขึ้น ในกรณีรุนแรง รูปร่างของฟันจะเปลี่ยนไปซึ่งมีลักษณะสั้นลง และมีขอบที่เปราะบาง

สิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาสุขภาพช่องปากที่ดีระหว่างการตั้งครรภ์

  1. เข้ารับการตรวจสุขภาพฟัน

    กำหนดตารางเข้าตรวจสุขภาพฟันและขอคำแนะนำจากทันตแพทย์  การดูแลฟันเพื่อความปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์

  2. พยายามรักษาสุขอนามัยช่องปากให้ดีที่สุด และใช้แปรงสีฟันที่ดี

    สำหรับฟันทุกซี่ และเหงือก:

    แปรงฟันทุกซี่ และเหงือกให้สะอาดทั่วถึงด้วยแปรงสีฟันที่่มีคุณภาพดีซึ่งออกแบบมาเพื่อการเข้าถึงซอกลึกได้ดี และทำความสะอาดคราบแบคทีเรียที่มักสะสมตัวอยู่โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือก ใต้เหงือก และระหว่างซอกฟัน

    รูปภาพ: แปรงสีฟันที่ขนแปรงมีลักษณะเรียวยาวมากจะทำให้สามารถเข้าถึงใต้เหงือก และระหว่างซอกฟันในบริเวณที่เข้าถึงได้ยากได้ดีกว่าขนแปรงที่มีลักษณะปลายโค้งมน

    จับด้ามแปรงเพื่อให้ขนแปรงชี้ขึ้นไปที่ขอบเหงือกทำมุม 45 องศาไปที่รากฟัน และเคลื่อนแปรงไป-มาเล็กน้อย โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้แปรงพื้นผิว และด้านข้างของฟันทุกซี่เท่า ๆ กัน การทำขั้นตอนนี้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีจะใช้เวลาประมาณ 2 นาที ควรตรวจสอบเทคนิคที่เหมาะสมกับช่องปากของคุณมากที่สุดกับนักทันตอนามัยของคุณ

    ระหว่างซอกฟัน:

    แปรงสีฟันไม่สามารถทำความสะอาดได้อย่างสมบูรณ์ในบริเวณที่สามารถเข้าถึงได้ยากเช่น ระหว่างซอกฟัน บริเวณที่มีเลือดออกบ่อย และเริ่มเกิดภาวะโรคเหงือก ควรใช้แปรงซอกฟัน หรือไหมขัดฟันทุกวันเพื่อทำความสะอาดฟันแต่ละซี่ 

      

    ยาสีฟัน:

    ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์วันละ 2 ครั้ง แปรงฟันเป็นเวลา 2 นาทีเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากฟลูออไรด์ในการจับตัวกับสารเคลือบฟัน หากคุณมีแนวโน้มว่าฟันจะมีการสึกกร่อน ให้ลองเลือกยาสีฟันชนิดที่อ่อนโยน และมีฤทธิ์กัดกร่อนต่ำ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่เป็นสูตรฟอกสีฟันซึ่งอาจทำให้เกิดการสึกกร่อนกับผิวฟันได้

    อาหาร:

    รับประทานอาหารให้มีความสมดุลให้มากที่สุดอยู่เสมอ หากคุณกำลังรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีกรดในปริมาณมาก  (เช่น ผลไม้ น้ำผลไม้ และน้ำโซดา เป็นต้น) หรือมีความต้องการรับประทานของว่างที่มีน้ำตาลและแป้งมากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคุณมีการเปลี่ยนไปในช่วงการตั้งครรภ์ –ดังนั้นโปรดแจ้งให้ทันตแพทย์ของคุณทราบ

  3. อย่าลืม!

    • หมั่นตรวจสุขภาพฟัน และช่องปากของคุณในระหว่าง และหลังการตั้งครรภ์

    • เปลี่ยนแปรงสีฟันอย่างน้อยทุก ๆ 12 สัปดาห์ และเปลี่ยนแปรงซอกฟันทุก ๆ 2 สัปดาห์

    • ดูแลสุขภาพช่องปากของคุณหลังคลอดบุตร

    • พาลูก ๆ ของคุณไปพบทันตแพทย์ก่อนจะถึงวันเกิดในปีแรกของพวกเขา